ตอบคำถาม ecommerce คืออะไร? พร้อมไขทุกข้อสงสัยก่อนลงสนามจริง 04/Sep/2024 12:00 PM
ตอบคำถาม ecommerce คืออะไร? พร้อมไขทุกข้อสงสัยก่อนลงสนามจริง
ทุกวันนี้เทคโนโลยีได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อทลายทุกขีดจำกัดและเปิดให้เห็นโอกาสใหม่ ๆ ที่สามารถต่อยอดได้ในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การเข้ามาของโลกออนไลน์ ที่ทำให้พฤติกรรมของคนในสังคมเปลี่ยนแปลงไปหลายด้าน รวมไปถึงในแง่ของพฤติกรรมการซื้อสินค้าที่ทำได้ง่ายเพียงปลายนิ้วคลิก การค้าขายบนออนไลน์ที่กำลังเป็นที่นิยมและเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ นี้เรียกว่า “อีคอมเมิร์ซ” (ecommerce) ซึ่งเป็นการค้าอีกช่องทางหนึ่งที่ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญอย่างยิ่ง โดยสำหรับใครที่อยากจะรู้จักกับการขายรูปแบบนี้ให้ลึกกว่าที่เคย บทความนี้จะมาตอบคำถามให้รู้ว่า ecommerce คืออะไร มีประโยชน์อย่างไร และมีในรูปแบบไหนบ้าง เพื่อสร้างความเข้าใจสู่การต่อยอดกับธุรกิจในอนาคต
ecommerce คืออะไร
ecommerce คือ การดำเนินธุรกิจซื้อ-ขาย แลกเปลี่ยน และนำเสนอสินค้าหรือบริการต่าง ๆ ผ่านทางอินเทอร์เน็ต เช่น ทางเว็บไซต์ แพลตฟอร์ม หรือแอปพลิเคชัน เป็นต้น ซึ่งหลาย ๆ คนอาจจะเห็นภาพได้ชัดมากกว่าหากพูดว่านี่ก็คือ “การซื้อของออนไลน์” นั่นเอง
โดยในปัจจุบันนี้ตลาด ecommerce กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก เนื่องจากความสะดวกสบาย และเข้าถึงได้อย่างไร้พรมแดน ตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้การซื้อขายช่องทางนี้ตอบโจทย์ผู้คนอย่างกว้างขวาง และยังกลายเป็นโอกาสสำคัญสำหรับผู้ประกอบการที่จะลงสนามเพื่อโปรโมตสินค้าและบริการของตนเองให้มากขึ้น รวมถึงแข่งขันในตลาดยุคดิจิทัลได้อย่างยั่งยืนต่อไป
ประเภทของ ecommerce
ประเภทของ ecommerce สามารถจำแนกตามกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกันในการซื้อขาย ออกมาได้เป็น 6 ประเภทใหญ่ ๆ ที่ใกล้ตัว ได้แก่
B2C
ธุรกิจ B2C หรือ Business to Customer เป็นการทำธุรกิจซื้อขายระหว่างผู้ประกอบการ( Business) และผู้บริโภค ( Customer ) โดยตรง นับเป็นธุรกิจecommerceแบบทั่วไปที่เราเห็นได้บ่อย เป็นที่นิยมและหลายคนใช้บริการกันเป็นปกติ ยกตัวอย่างเช่น การขายสินค้า เสื้อผ้า อาหาร ที่หลายคนซื้อปลีกกับทางผู้ขายผ่านอินเทอร์เน็ต เป็นต้น
B2B
ธุรกิจ B2B หรือ Business to Business คือ การทำธุรกิจซื้อขายที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ประกอบการด้วยกันเอง โดยส่วนมากมักเป็นการขายส่ง เช่น การขายสินค้าจากโรงงานให้กับห้างร้านเพื่อนำไปขายให้ผู้บริโภคต่ออีกทอด หรือไม่ก็อาจเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์หรือบริการที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ
C2C
รูปแบบธุรกิจแบบ C2C หรือ Customer to Customer นับเป็นการซื้อขายกันเองระหว่างผู้บริโภคกับผู้บริโภค อย่างเช่นการส่งต่อสินค้ามือสอง ครอบคลุมได้ตั้งแต่ของราคาหลักสิบไปจนถึงหลักล้าน แต่สำหรับของกระจุกกระจิกแล้วโดยส่วนมากมักจะทำการซื้อขายผ่านเว็บไซต์ เช่น eBay หรือ Etsy
C2B
ขณะที่ C2B หรือ Consumer to Business เป็นการขายสินค้าที่ผู้บริโภคเป็นผู้ขายสินค้าหรือบริการให้กับธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นช่างภาพที่ขายภาพของตนเองให้กับแพลตฟอร์มเฉพาะ หรือการที่ฟรีแลนซ์ได้นำเสนอบริการงานเขียนให้กับบริษัทผ่านช่องทางออนไลน์
G2C
สำหรับ G2C หรือ Government to Customer นับเป็นการบริการจากภาครัฐสู่ประชาชนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่น การเสียภาษีออนไลน์ หรือกระทั่งการให้บริการข้อมูลประชาชนผ่านอินเทอร์เน็ตก็เช่นกัน
B2G
สุดท้ายคือ B2G หรือ Business to Government ซึ่งเป็นการประกอบธุรกิจระหว่างภาคเอกชนกับภาครัฐ ยกตัวอย่างเช่น e-Government Procurement หรือ การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ที่ทำผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นส่วนใหญ่เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย เป็นต้น
จุดเด่นของ ecommerce
จุดเด่นของ ecommerce ที่ได้เกริ่นไปข้างต้นเป็นเรื่องของความสะดวกและการทลายขีดจำกัดทั้งในด้านพื้นที่และเวลา แต่นอกเหนือจาก 2 ข้อใหญ่นี้แล้ว ก็ยังมีจุดเด่นอีกมากมาย ได้แก่
- ลดต้นทุนค่าดำเนินงาน เช่น ค่าเช่าสถานที่เปิดร้าน ค่าแรงพนักงาน และค่าเดินทาง
- อำนวยความสะดวกให้ลูกค้า สามารถเลือกซื้อสินค้าและบริการได้ทุกที่ทุกเวลา
- เพิ่มโอกาสในการขาย จากความสามารถในการเข้าถึงลูกค้าได้ทั่วทุกมุมโลก
- ลดโอกาสผูกขาดจากสินค้าเจ้าใหญ่ เพิ่มโอกาสให้ร้านเล็ก ๆ ได้แข่งขัน
- เข้าถึงผู้บริโภคได้โดยตรง ช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงและเข้าใจพฤติกรรมของลูกค้า พร้อมปรับปรุงผลิตภัณฑ์และบริการได้ตรงจุดมากขึ้น
- เป็นรูปแบบการขายสินค้าที่กำลังเติบโต ecommerceจึงยังคงเปี่ยมไปด้วยโอกาสใหม่ ๆ ไม่รู้จบ
ธุรกิจแบบไหนที่ควรมีเว็บไซต์ ECommerce Platform
ธุรกิจแบบไหนที่ควรมีเว็บไซต์ ECommerce Platform คำตอบของคำถามนี้เป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากธุรกิจทุกรูปแบบ เพราะไม่ว่าสินค้าหรือบริการแบบใดในยุคดิจิทัลต่างก็สามารถขายผ่านช่องทาง ECommerce Platform ได้ทั้งสิ้น ยกตัวอย่างเช่น สินค้าที่จับต้องได้และวางขายหน้าร้าน ตั้งแต่เครื่องประดับ เสื้อผ้า ไปจนถึงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในครัวเรือน สิ่งเหล่านี้ล้วนสามารถสั่งซื้อได้ผ่านทางออนไลน์พร้อมบริการขนส่งถึงบ้าน
ขณะที่ในด้านบริการเอง ก็สามารถดำเนินการผ่านช่องทางออนไลน์ได้เช่นกัน ทั้งการรับจ้างฟรีแลนซ์ การจองตั๋วเครื่องบิน ที่พัก ตลอดจนแพ็กเกจบริการเสริมความงามที่มีทั้งสำหรับการใช้บริการที่หน้าร้าน หรือเรียกใช้บริการที่บ้านโดยเฉพาะ กลายเป็นอีกหนึ่งความสะดวกสบายที่ผู้ประกอบการจะสามารถอำนวยให้ผู้บริโภคได้มากขึ้น
ทั้งนี้ ECommerce Platform ยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้ทำธุรกิจใหม่ ๆ ที่มากกว่าการค้าขายแบบเดิม นั่นคือการขายสินค้าแบบดิจิทัล ซึ่งเป็นสินค้าที่จับต้องไม่ได้ เช่น แอปพลิเคชัน ซอฟต์แวร์ ไอเท็มในเกม เพลง รวมถึงคอร์สเรียนออนไลน์ นับเป็นสินค้าใหม่ ๆ ที่มาพร้อมกับการพัฒนาของเทคโนโลยี
3 ช่องทางในการเลือก Ecommerce Platform
หลังจากทราบถึงข้อดีของ ecommerce กันไปแล้ว ยังมี 3 ทางเลือก Ecommerce Platform ที่ทุกท่านจำเป็นต้องรู้ก่อนจะลงสนาม เพราะช่องทางการขายของออนไลน์นั้นมีหลากหลาย และต่างก็มีจุดแข็งจุดอ่อนที่แตกต่างกัน ดังนั้นเราจึงควรเลือกช่องทางที่ตอบโจทย์และเหมาะสมกับธุรกิจแต่ละรูปแบบมากที่สุด
Marketplace
Marketplace เป็นเว็บไซต์ecommerceที่เหมือนกับตลาดรวบรวมสินค้าจากร้านค้าหรือแบรนด์ต่าง ๆ เพื่อให้ลูกค้ามาเลือกซื้อสินค้าที่ตอบโจทย์ทั้งในด้านคุณภาพและราคามากที่สุด ตัวอย่างเด่น ๆ เช่น แพลตฟอร์มช้อปปิงยอดนิยมอย่าง Lazada และ Shopee เป็นต้น โดยเว็บไซต์เหล่านี้มักจะมีระบบสำหรับการซื้อขายครบวงจรตั้งแต่การสร้างร้านค้าในรูปแบบเดียวกัน การชำระเงิน การจัดส่ง กระทั่งการคืนสินค้า เหมาะสำหรับผู้ที่เริ่มต้นการขายออนไลน์ เนื่องจากสามารถเปิดได้ทันที และมีฐานลูกค้าในเว็บรองรับ พร้อมระบบที่อำนวยความสะดวกครบวงจร
อย่างไรก็ตามการเปิดร้านค้าใน Marketplace มักมีการแข่งขันที่ค่อนข้างสูงจากร้านค้าที่ขายสินค้าประเภทเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน จนต้องห้ำหั่นกันด้วยโปรโมชั่นและราคา และมีข้อพิจารณาอีกประการ คือ อาจมีค่าธรรมเนียมรายปี รวมถึงส่วนแบ่งของยอดขายที่ต้องหักให้ Marketplace และด้วยหน้าตาของร้านค้าที่อยู่ในแพทเทิร์นเดียวกัน จึงอาจทำให้แบรนด์ไม่สามารถชูเอกลักษณ์ได้เท่าที่ควร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นจุดอ่อนของแพลตฟอร์มนี้
Chat & Shop
การให้บริการ Chat & Shop เปรียบเสมือนการที่ลูกค้าแต่ละคนจะมีพนักงานขายประจำตัวที่ช่วยให้ข้อมูล ตอบคำถาม และอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าทุกขั้นตอนตลอด 24 ชั่วโมงผ่านทางแชตสนทนา ทำให้เป็นวิธีที่ค่อนข้างสะดวกเพราะลูกค้าไม่จำเป็นต้องกดเพิ่มตะกร้าหรือทำเรื่องแจ้งชำระเงินด้วยตัวเอง
ซึ่งการบริการลักษณะนี้ อาจเห็นได้ในการขายสินค้าผ่าน Social Commerce หรือ การขายสินค้าผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม หรือไลน์ โดยไม่จำเป็นต้องออกจากแพลตฟอร์มนั้น ๆ ทำให้โซเชียลมีเดียต่าง ๆ เป็นมากกว่าช่องทางโปรโมตสินค้าและทำการตลาด แต่ยังรวมระบบการดำเนินการสั่งซื้อไว้อย่างครบวงจรด้วย ที่สำคัญ คือ มีข้อได้เปรียบของจำนวนผู้ใช้งานแพลตฟอร์มที่เติบโตขึ้น รวมถึงมีการเก็บข้อมูลวิเคราะห์ผู้บริโภคอยู่เสมอ ทำให้สินค้าเข้าถึงเป้าหมายได้ง่าย
ทั้งนี้บริการรูปแบบดังกล่าวก็อาจจะมีจุดอ่อนอยู่ที่การสื่อสารที่ล่าช้าหากพนักงานขายมีข้อความรอรับบริการจำนวนมาก และยังอาจมีเรื่องของความผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้เมื่อมีออเดอร์เยอะและซับซ้อน จึงต้องอาศัยการตรวจทานและการบริหารกำลังคนให้พร้อมรับมือไว้ ขณะที่การขายของผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย มักดูมีความน่าเชื่อถือน้อยกว่า Ecommerce Platform อื่น ๆ ทั้งยังสามารถปลอมแปลงตัวตนได้ง่าย ซึ่งอาจทำให้ตัวแบรนด์เสื่อมเสียชื่อเสียง จึงต้องระวังในจุดนี้เช่นกัน
Brand.com
สุดท้าย คือ การทำเว็บไซต์ecommerce ที่อยู่ในลักษณะของ Brand.com เช่น sabina.co.th โดยเป็นการทำเว็บไซต์ของแบรนด์เพื่อขายสินค้าให้กับลูกค้าเองโดยตรง ที่แม้จะมีต้นทุนสูงในระยะแรก แต่ก็มีจุดเด่นที่สำคัญ คือ ประสิทธิภาพในการสร้างแบรนด์ที่โดดเด่นกว่าช่องทางอื่น ๆ ด้วยความสามารถในการปรับแต่งดีไซน์ให้เข้ากับตัวแบรนด์มากที่สุด ทำให้ร้านค้ามีเอกลักษณ์ สร้างตัวตนของแบรนด์ให้เป็นที่จดจำได้ง่าย อีกทั้งการมีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง ยังช่วยให้แบรนด์สามารถให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์และบริการที่มีอย่างครบถ้วน สร้างความน่าเชื่อถือให้กับลูกค้าได้มากกว่า Ecommerce Platform รูปแบบอื่น ๆ ได้อีกระดับหนึ่งด้วย
ขณะเดียวกันนี้ การสร้างเว็บไซต์ecommerceของตัวเองยังได้เปรียบในการจัดเก็บข้อมูลและพฤติกรรมการซื้อของลูกค้าด้วยตัวเอง เพื่อนำข้อมูลต่าง ๆ มาต่อยอดและสร้างโอกาสทางธุรกิจได้เช่นกัน โดยสามารถเริ่มสร้างเว็บไซต์ด้วยตัวเอง หรือเลือกใช้บริการแพลตฟอร์มที่ให้บริการการสร้างเว็บไซต์อย่างมืออาชีพ เช่น SEP Platform ได้เช่นเดียวกัน
วิธีโปรโมตธุรกิจ ecommerce ให้ขายดี
โปรโมตสินค้าผ่านโซเชียลมีเดีย
เริ่มจากการโปรโมตสินค้าผ่านโซเชียลมีเดียที่แบรนด์มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นทางเฟซบุ๊ก (Facebook) อินสตาแกรม (Instagram) หรือติ๊กต็อก (TikTok) ผ่านคอนเทนต์หลากหลายรูปแบบ เช่น การยิงโฆษณา การจ้างคนดัง การรีวิว หรือการทำโพสต์ที่น่าสนใจทั้งในรูปแบบคลิปและโพสต์สร้างปฏิสัมพันธ์ ล้วนช่วยให้สินค้าเป็นที่รู้จักได้อย่างรวดเร็วในวงกว้าง โดยสิ่งสำคัญที่ควรคำนึงตลอดการทำการโปรโมตนั้นอยู่ที่การเลือกกลุ่มเป้าหมาย การลงโพสต์ให้เหมาะสมในช่วงเวลาที่ใช่ และการสร้างบทสนทนาที่ดีกับลูกค้า ก็จะกระตุ้นให้ปิดการขายได้ง่ายมากขึ้น
การทำ Search Marketing ให้เว็บไซต์
การทำ Search Marketing ให้เว็บไซต์ เป็นอีกวิธีที่แนะนำ เพราะในปัจจุบันนี้ ไม่ว่าใครจะอยากรู้ข้อมูลอะไรหรือต้องการหาสินค้าใด ๆ ก็ตาม ก็มักจะเริ่มจากการค้นหาคีย์เวิร์ดบน Search Engine เสมอ แบรนด์ต่าง ๆ จึงหันมาทำการตลาดผ่านเครื่องมือค้นหาบนอินเทอร์เน็ต หรือ SEM กันมากมาย โดยจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คือ PPC หรือ Pay Per Click ซึ่งพูดง่าย ๆ ว่าเป็นการจ่ายเงินเพื่อซื้อโฆษณาบนหน้า Search Engine ทำให้ตัวหน้าเพจฯอยู่บนลำดับต้น ๆ เมื่อมีคนค้นหาคีย์เวิร์ดที่ประมูลมาเสมอ โดยจะต้องจ่ายเงินค่าโฆษณาตามจำนวนคนที่คลิกไปดูเว็บไซต์ ข้อดีของวิธีการนี้ คือ หน้าเว็บของแบรนด์ที่ประมูลคีย์เวิร์ดสำเร็จ จะขึ้นมาอยู่อันดับต้นทันที ไม่ต้องปรับแต่งหน้าเว็บให้ตรงตามเกณฑ์ แต่ก็จะมีจุดด้อย คือ เมื่อยกเลิกจ่ายโฆษณาแล้วหน้าเว็บไซต์ก็จะร่วงหายไปจากหน้าค้นหาในส่วนพื้นที่โฆษณาเช่นกัน กลยุทธ์นี้จึงเหมาะกับแคมเปญระยะสั้น เช่น สินค้าตามเทศกาลเป็นต้น
ขณะที่อีกส่วนหนึ่งจะเรียกว่า SEO หรือ Search Engine Optimization ที่หลายคนรู้จักกันในนามของ Organic Search ซึ่งจะเน้นไปที่การพยายามทำให้หน้าเว็บไซต์ของแบรนด์ติดอยู่ในอันดับต้น ๆ ของการค้นหา ผ่านการปรับแต่งเว็บไซต์และสร้างเนื้อหาที่มีคุณภาพตอบโจทย์ผู้ใช้ เพื่อให้ตอบรับกับหลักเกณฑ์การให้คะแนนเว็บไซต์ของ Search Engine นั้น ๆ ซึ่งถึงแม้นี่จะเป็นวิธีที่ต้องใช้การวางแผน ความเข้าใจ และระยะเวลาที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังมีเรื่องของกฎเกณฑ์ให้ต้องอัปเดตเสมอ แต่ก็มีข้อดีที่ไม่ต้องเสียเงินค่าโฆษณา และยิ่งทำไป เว็บไซต์ก็จะยิ่งดีได้มาตรฐานอย่างต่อเนื่อง เป็นที่ไว้ใจของลูกค้า และมีโอกาสที่จะติดอันดับในระยะยาว นี่จึงเหมาะสำหรับการขายสินค้าและบริการทั่วไป ที่ผู้บริโภคสามารถเข้ามาเยี่ยมชนและซื้อสินค้าเราได้ตลอดเวลา
สรุป
ecommerce นับเป็นตลาดที่กำลังได้รับความนิยมและเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป การสร้างแบรนด์ของตัวเองให้มีภาพลักษณ์โดดเด่น และแข็งแกร่งบนตลาดออนไลน์ จึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการเลือก Ecommerce Platform ที่เหมาะสมและส่งเสริมตัวแบรนด์ ก็จะยิ่งช่วยให้แบรนด์เติบโตในยุคดิจิทัลได้ก้าวกระโดดกว่าใคร
มาเริ่มลงทุนตลาด ecommerce ตั้งแต่วันนี้ เพื่อคว้าโอกาสที่ดีที่สุดสำหรับธุรกิจของคุณ คู่ไปกับผู้ช่วยวางแผนที่มีคุณภาพและเชื่อถือได้ เพื่อให้โลกการตลาดออนไลน์เป็นเรื่องง่ายกว่าที่เคย